แนะนำหน่วยงาน

เกี่ยวกับองค์กร
   ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดน่าน เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์พืชสวนน่าน จัดตั้งในพื้นที่ของกรมทหารพรานที่ 32 บริเวณหมู่ที่ 9 ตำบลฝายแก้ว อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอภูเพียง) จังหวัดน่าน ต่อมากรมทหารพรานขอใช้พื้นที่ทั้งหมด จึงเคลื่อนย้ายไปก่อตั้งที่ทำการที่บ้านถืมตอง หมู่ที่ 4 ตำบลถืมตอง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ.2531 โดยมีพื้นที่ทำการประมาณ 43 ไร่ และมีพื้นที่สาขาอีก 1 แปลง 170 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านศรีเกิด หมู่ที่ 3 ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ต่อมาพื้นที่คับแคบลง เนื่องจากได้รับภารกิจจากกรมส่งเสริมการเกษตรมากขึ้น จึงย้ายพื้นที่ทำการและแปลงขยายพันธุ์มาพื้นที่ใหม่ จำนวน 300 ไร่ เลขที่ 152 บ้านห้วยยื่น หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน

   พื้นที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดน่าน จำนวน 300 ไร่ โดยมีอาณาเขต ดังนี้
– ทิศเหนือ ติดกับหมู่บ้านห้วยยื่น
– ทิศใต้ ติดกับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน
– ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำน่าน
– ทิศตะวันตกติดกับถนนสายน่าน – ทุ่งช้าง

ข้อมูลทางกายภาพ

แหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร
– อ่างเก็บน้ำฝายห้วยแล้ง ขนาดความจุ 40,000 ลูกบาศก์เมตร
– แม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากแปลงแม่พันธุ์ประมาณ 100 เมตร

ลักษณะพื้นที่
   ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและเชิงเขา ด้านหน้าเป็นพื้นที่ต่ำสุด ติดกับถนนสายน่าน – ทุ่งช้าง และเป็นเชิงเขาเข้าไปด้านหลัง ได้สร้างอ่างเก็บน้ำฝายห้วยแล้ง ขนาด 40,000 ลูกบาศก์เมตร ภายในศูนย์ ฯ มีพื้นที่ใช้สอยเป็นลักษณะลูกคลื่นและเชิงเขา มีการปรับสภาพพื้นที่บางส่วนให้เป็นที่ราบและแนวขั้นบันได เพื่อเป็นแนวปลูกพืชและอนุรักษ์ดินและน้ำ ปัจจุบันใช้ในการปลูกแฝกตามแนวระดับเป็นจุด ๆ พื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่เป็นเชิงเขา มีความลาดเทประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จนถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำภายในศูนย์ฯ ไม่เพียงพอ จึงมีการชักน้ำจากแม่น้ำน่านโดยใช้ปั๊มยกสูง (ปั๊มซัพเมิร์ส) เพื่อนำมาใช้ในแปลงที่น้ำจากอ่างเก็บน้ำส่งไปไม่ทั่วถึง และในพื้นที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในช่วงที่น้ำไม่เพียงพอ ระยะทางไกลสุดที่ส่งน้ำน่าน ถึงพื้นที่ใช้สอย 950 เมตร และความต่างระดับในการยกน้ำจากลำน้ำน่าน ถึงพื้นที่ใช้สอยสูงสุด 80 เมตร ช่วงเวลาที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำจากลำน้ำน่าน โดยเฉลี่ย 7 เดือนต่อปี พื้นที่ที่มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ มีความต่างระดับสูงสุด 50 เมตร โดยใช้ทั้งแปลงแม่พันธุ์ แปลงเรียนรู้ แปลงทดสอบ โรงเรือนอนุบาลพันธุ์พืช อาคารที่ทำการ และอาคารฝึกอบรม

ภารกิจหลัก

   ภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ การฝึกอบรมอาชีพทางการเกษตร โดยมีภารกิจย่อยเพื่อสนับสนุนให้ภารกิจหลักประสบความสำเร็จ ดังนี้
1. ศึกษาทดสอบเพื่อพัฒนาการฝึกอบรม การผลิตปัจจัยการผลิต และให้บริการทางการเกษตรแก่เกษตรกร
2. ฝึกอบรมอาชีพการเกษตรแก่เกษตรกร
3. ผลิตปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร
4. ให้บริการทางการเกษตรและเป็นที่ปรึกษาวิชาการเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตร
5. ประสานงานวิชาการ ติดตาม และประเมินผลการฝึกอาชีพ การผลิตบริการพันธุ์พืชและบริการทางการเกษตร
6. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

วิสัยทัศน์

   เราจะมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้เป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตร ให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

พันธกิจ

1. ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ให้มีความยั่งยืน เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้
2. ให้การบริการด้านการเกษตร ช่วยแก้ไขปัญหา อุปสรรคตามสภาพปัญหาของเกษตรกร
3. ศึกษา ทดสอบ และจัดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อพัฒนางานด้านการส่งเสริมการเกษตรและบูรณาการ การทำงานกับทุกภาคส่วน
4. สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและพัฒนาชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

พื้นที่ในความรับผิดชอบ

   เขตพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง